Loading...
กำเนิด 11 มม. ตัวแรกของไทย
เรื่องมันมีอยู่ว่าปืนพกประจำกายทหารไทยน่ะ มันไม่เคยมีพอแจกกันมาตั้งแต่สมัย ร.5 แล้ว สอบเป็นนายร้อยไทยได้คาดปืนพกมันโก้จะตาย จนถึงขนาดเกิดคดีขึ้นปี ร.ศ.127 นายร้อยตรีอะไรอย่าเอ่ยชื่อเลยจากกรมทหารมหาดเล็กโดนคาดโทษ เมื่อหลวงจ่ายปืนเบราว์นิ่งให้แล้วพวกเล่นถือกลับบ้านแล้วแกล้งบอกว่าทำหาย จึงมีประกาศจากเสนาบดีกลาโหมสั่งว่าใครขืนทำหายอีกต้องซื้อใช้ ถึงยุคจอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้ริเริ่มที่จะผลิตปืนพกใช้เองให้พอแก่ราชการ ปืนพกใหม่จึงเกิดขึ้นเรียกว่า "ปืนพกแบบ 80" หรือ "ปพ. 80" โดยใช้แบบปืนรุ่น M ของ บริษัทสตาร์ ประเทศสเปน
ปพ. 80
จากหลักฐานของฝรั่งว่า ทบ.ไทยคงซื้อลิขสิทธิ์มาในปี ค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) และสั่งเครื่องจักรใหม่เพื่อเปิดสายการผลิต เช่น แบบจับยึด (Jig and Fixtures) เครื่องเจาะ เครื่องกลึงต่างๆ ของบริษัท Greenwood & Batley จากประเทศอังกฤษ เครื่องมือชุดนี้สามารถผลิตปืนพกได้ 20 - 25 กระบอกต่อวัน โดยทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ราคาเครื่องจักรเป็นเงิน 24,000 ปอนด์ โดยต้องส่งมอบเครื่องจักรทั้งหมดและตัวอย่างปืนจำนวนหนึ่งมาเพื่อพิสูจน์ว่าใช้ทำปืนได้จริงภายใน 117 สัปดาห์ (2 ปี 3 เดือน) ซึ่งตรงกับเดือนมีนาคม ค.ศ.1936 (พ.ศ.2479)
แต่แล้วแผนเกิดหยุดชะงักลงเมื่อปี ค.ศ.1936 - 39 เกิดสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ในประเทศสเปน โรงงานสตาร์ถูกถล่มราบเป็นหน้ากลองคนงานหนีตายกันจ้าละหวั่น เอกสารหายสูญไปหมด แม้แต่ปืนต้นแบบในห้องเก็บก็ถูกปล้นเอาออกไปรบ สตาร์จำต้องเลิกส่งคนมาช่วยติดตั้งเครื่องจักรและทดสอบการผลิตในกรุงเทพ
ฝรั่งไปพบปืนตัวอย่างที่ผลิตจากอังกฤษ มีตราประทับชื่อบริษัท Greenwood & Batley ตรากงจักร และชื่อปืนพกแบบ 80 ตอกอยู่ที่สไลด์ ด้วยเหตุนี้เองแม้แต่กรมสรรพาวุธของเราก็เข้าใจผิดหลงบันทึกในทะเบียนปืนเก่าว่ามีปืนพกทำจากเมืองผู้ดีเหลือคงคลังอีกหลายสิบกระบอก มิใช่มีสายเลือดกระทิงดุสเปนแต่อย่างใด ปืนที่พบในอเมริกายังมีประหลาดอีกชนิดคือ ปืนพกกล ปพ.80 ซึ่งคงสร้างเพื่อทดลองตามแผนในใจของราชการไทย
ดูจากเหตุการณ์อันวุ่นวายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนทางการให้มีการย้ายเครื่องจักรบางส่วนไปหลบลูกระเบิดแล้ว ต่อมาคงสั่งระงับการผลิตไปเลย และอาจทำให้มี ปพ. 80 อยู่ในโลกไม่เกิน 100 กระบอก
Loading...
15 ปีผ่านไป - ปพ. 95 ผู้น้อง
ครั้นสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปืนโคลท์ M1911A1 ขนาด 11 มม. จากอเมริกาในชื่อใหม่ว่า ปพ.แบบ 86 ได้เป็นปืนพกมาตราฐานของราชการไทย แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ ในปี พ.ศ.2498 ทบ. เกิดขาดแคลนปืนพกขึ้นอีกรอบ เดือดร้อนถึงเหล่าผู้สำเร็จการศึกษานายร้อย จปร. ไม่มีปืนพกประจำตัว กรมสรรพาวุธทหารบกจึงนำแบบปืนสตาร์ ปพ. 80 มาปัดฝุ่นขยายให้เป็นปืนขนาด 11 มม. ด้วยเครื่องจักรที่สั่งมาไว้เกือบ 20 ปีก่อน กลายเป็น "ปืนพกแบบ 95" (ปพ.95) จ่าคาดว่าช่างไทยคงแอบลองทำไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2495 แล้วจึงมีชื่อรุ่นอย่างนี้
หนังสือฉลอง 90 ปี กรมสรรพาวุธว่าไว้มี ปพ.95 เพียง 300 กระบอก จำหน่ายแก่นายทหารที่จบในปี พ.ศ.2499 เดี๋ยวนี้แต่ละท่านก็สิ้นสุดอายุราชการไปหมดแล้ว แต่ใครจะไปนึกว่ามีปืน 11 มม. ที่มียอดผลิตแค่ 300 กระบอกในโลกอยู่ ในมือ ปพ.95 รุ่นนี้ถือเป็นรุ่นดั้งเดิมคือมีเข็มแทงชนวน ใช้แบบแท่งมีสลักล็อกท้ายของสตาร์
ปพ.95/03 ขนาด 11 มม. ที่ไทยทำด้วยมือทั้งกระบอก
ปพ.95/03
ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 ทางกรมก็นำ ปพ.95 ที่ยังอยู่คงคลังกลับมาเปลี่ยนเข็มแทงชนวนให้เป็นแบบมีแป้นปิดท้ายเหมือนโคลท์ที่แข็งแรงกว่าและถอดง่ายกว่าเพราะการถอดแบบของสตาร์นั้นต้องตอกศูนย์หลังออกก่อนด้วยจึงจะเอาเข็มแทงชะนวนออกมาได้ ซึ่งทางการต้องเปลี่ยนสไลด์ใหม่ทั้งหมดแล้วตั้งชื่อว่า "ปืนพกแบบ 95/03" (ปพ.95/03) แปลว่าดัดแปลงใหม่ปี พ.ศ. 2503 การผลิตอีกแบบไม่ต่อเนื่องกระปิดกระปรอย ทราบว่าช่วงที่การปะทะกับ ผกค. ยังรุนแรงคือ ปี พ.ศ. 2517-2520 ก็ยังมีการผลิตกันทีละชุดๆละ 120 - 200 กระบอก ตามความทรงจำของช่างที่ทำ คาดว่ามีเพิ่มอีกราว 1,500 กระบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงพอนับว่า ปพ. 95/03 รุ่นปรับปรุงใหม่นี้เป็นของหาได้ยากอีกรุ่นหนึ่ง แต่ท่านเดายอดผลิตตามเลขประจำปืน (Serial Number) ไม่ได้นะครับเพราะทางกรมฯก็ผลิตปืนเลียนแบบ
M1911A1 หลังอ่อนที่เรียกว่า ปพ. แบบ 18 เรียงเลขพร้อมกันไปด้วยทำให้ ปพ.95/03 เช่นกระบอกที่นำมาทดสอบนี้มีเลขที่สูงถึง 10,400
การผลิต - มันเริ่มจากรู 2 รู
จ่าขอสัมภาษณ์ผู้ที่เคยทำมันกับมือไว้เป็นประวัติศาสตร์ให้พอเข้าใจง่ายๆว่ากระบวนการทำปืนด้วยมือของ ทบ.
ในสมัยโน้นน่ะมันเป็นอย่างไรกัน ขั้นแรกเอาช่างแสงมาแบ่งงานออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ทีมสร้างชี้นส่วน
เป็นการทำชิ้นส่วนอย่างหยาบๆขึ้นมาก่อน และมีการวัดขนาดให้ถูกต้องด้วยแบบวัดผลิตชุดแรก ซึ่งใช้วัดให้
แน่ใจว่าผลิตมาดีแล้ว สมัยนู้นเขาเรียกชิ้นส่วนนี้ว่า โกรน หรือ ของโกรน
- โครงปืน เป็นชิ้นแรกสุดและทำยากที่สุด ช่างแสงจะเอาเหล็กท่อนสี่เหลี่ยมหนาเหมือนแผ่นกระดานมาตัดเป็นท่อนๆ
ให้ยาวเท่าโครงปืน แผ่นหนึ่งกว้างพอที่ช่างจะวาดโครงสำหรับปืน 2 กระบอก โดยวาดให้สลับหัวสลับหาง จากนั้นก็บรรจง
เลื่อยท่อนเหล็กตามรูปที่วาดออกมา จากนี้เอาแบบจับยึด (Jig and Fixtures) ซึ่งก็คือแผ่นเหล็กแม่แบบมีแกน 2 แกน
บอกตำแหน่งของโครงปืนมาวาง เพื่อแสดงตำแหน่งว่าจะต้องเจาะโครงปืนที่ตัดไว้ให้ทะลุและเสียบลงในรูเหล่านี้เท่านั้น
รูมาตราฐาน นี้รูแรกคือรูใส่สลักยึดลำกล้องเหนือโกร่งไก อีกรูอยู่ที่ท้ายด้าม จากนี้ไปช่างจะไส... เจาะ...กัด...เซาะ
เหล็ก จนเหลือเป็นโพรง ในแต่ละส่วนเขาจะมีแบบวัดโกรนหรือแบบวัดผลิต นี้มีสารพัดขนาด (รูปร่างเหมือนปากกาปาก
ตาย) ตามสเป็ก ปืนชนิดเดียวช่างจะมีแบบวัดหนึ่งลังใหญ่ๆ
- สไลด์ นั้นใช้เหล็กแท่งมาสกัด เจาะช่องสอดลำกล้องแล้วกลึงผิวด้านบนจนโค้ง
- ลำกล้อง เขาใช้เหล็กแท่งสี่เหลี่ยมชนิดเหนียวพิเศษมาเจาะรูลำกล้อง แล้วกลึงขึ้นรูป จากนั้นเข้าเครื่องกัดส่วน
ท้ายที่เป็นแท่นและห่วงข้อต่อต่างๆ จึงจะเอามาคว้านรังเพลิงครั้งที่ 1 โดยเราจะยังไม่ได้ตามขนาดกระสุนเป๊ะ ขั้นต่อ
ไปก็ค่อยไสร่องเกลียวทีละร่องด้วยใบมีดหล่อด้วยน้ำผสมน้ำยาหล่อเย็น (Coolant) ขั้นสุดท้ายจึงนำดอกคว้านตัวจบ
(Final Reamer)มาปรับรังเพลิงให้ได้ขนาดมาตราฐาน
- แม็กกาซีน ช่างอีกกลุ่มเขาจะสาละวนนำเหล็กแผ่นมาพับเชื่อมเข้ารูปกับแบบทำแม็กกาซีน ซึ่งเป็นเหล็กแท่ง
กองเตรียมเอาไว้แม็กฯพวกนี้รอถูกปรับแต่งเข้ากับปืนที่เสร็จสมบูรณ์แต่ละตัวในภายหลัง ทำให้ ใช้สลับกับปืนกระบอก
อื่นไม่ได้ ปพ. 95 ตัวหนึ่งหลวงจะแจกแม็ก 3 อัน เป็นสำรอง
- ชิ้นส่วนเล็กๆอื่นๆ ของปืน คนที่ทำต้องเป็นคนวัดเข้าแบบวัดเองห้ามช่วยกันมิฉะนั้นจะสับสน เจ้าชิ้นเล็กอย่าง
ไกปืนอย่าคิดว่าง่ายเพราะมีแบบวัดโกรนถึง 20 อันไว้กำกับ พอเสร็จก็แยกประเภทใส่ลังไว้ก่อน
2. ทีมชุดปรับและประกอบ
มีประมาณ 20 คนแบ่งเป็นสองหมู่ๆละ 10 คนโดยแจกให้ทำคนละไม่เกิน 1 กระบอกต่องาน 1 ชุด และมีโครงปืนโกรนวางเรียงไว้พร้อมเบอร์กำกับบนโต๊ะ
- การปรับแต่งขั้นต้นหรือปรับปืนขาว ชิ้นส่วนโกรนอื่นๆในกะบะจะนำมาปรับแต่งด้วยเครื่องขัดและมี แบบวัดแต่ง เป็นชุดที่ 2 ไว้เทียบกันอีกกระบุงใหญ่ เช่น ศูนย์หลังใช้แบบวัดแต่ง 5 อัน จากนั้นก็จะตีเบอร์กำกับเช่น สไลด์ มีเบอร์เป็นทางการว่า พ.95/4 น่าสังเกตว่าเขาจะไม่ตีตราผู้ตรวจอย่างเมืองนอกลงบนปืนทุกชิ้นเหมือนช่างเยอรมันประกอบปืนพาราเบลลั่ม แปลว่าผู้ทำเป็นคนให้ผ่านคิวซีเองก่อนไปชุบแข็งชิ้นส่วนต่างๆถูกปรับแต่งเเล้วยังเป็นเหล็กสีขาวหรือที่ช่างแสงรู้จักกันว่า ปืนขาว- การชุบเหล็ก ชุบด้วยความร้อนและให้เย็นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ชิ้นส่วนบางชิ้นมีความแข็งแกร่งเป็นพิเศษกันมิให้บิ่นหรือหักง่าย ได้แก่ ขอรั้งปลอก แกนปุ่มปลดแม็กฯ เข็มแทงชะนวน เป็นต้น มีพิเศษที่ปากแม็กฯหรือปากซองปืนชุบแข็งไว้ด้วยเพื่อรับแรงถอยหลังของสไลด์ดังนั้นพึงระวังไม่ควรทำแม็กฯหล่น
กระทบพื้น ลำกล้องนั้นชุบไม่ได้เดี๋ยวยิงแล้วระเบิด
- การเขียนอักษร ส่งให้ช่างเขียนตราของกรมและชื่อแบบปืนลงบนข้างสไลด์ มิได้ทำการตอกลงไปกันชิ้นส่วนยุบตัวทั้งนี้ยังไม่ระบุเลขประจำปืน(Serial Number) ลงไปขอรอให้เสร็จจริงก่อน
- ประกอบครั้งที่ 1 เทียบศูนย์ ตั้งไก คราวนี้ทีมช่างก็เริ่มประกอบปืนเสียที ตะไบคืออุปกรณ์สำคัญเพื่อปรับแต่งจนขึ้นลำและลั่นไกได้ครบ แล้วช่างจะเอาไปเทียบศูนย์ระยะ 25 หลา ด้วยกล้องที่มีแกนเสียบเข้ากับรูลำกล้องเล็งกับเป้าเทียมปรับแบบนั่งแท่น แล้วนำไปปรับไกปืนตั้งไว้ที่ 2.5-2.8 กก.พอลองยิงได้ 1 นัด จากนั้นก็ส่งไปเขียน เลขประจำปืน(Serial Number)
ส่งรมดำ
- ประกอบปืนดำ ช่างคนเดิมจะประกอบเข้าด้วยกันเป็นครั้งสุดท้ายเรียกว่า ปืนดำ แล้วยิ้มร่าหิ้ว ปพ.95 และกระเป๋าอุปกรณ์ไปยื่นส่งฝ่ายตรวจสอบคุณภาพยิงทดสอบให้ดูที่อุโมงค์ยิงรวม 2 ชุด
ผลการทดสอบครั้งแรก
ครั้งแรกทดสอบกับนิตยสาร กันส์เวิลด์ ปี พศ. 2546 หลายท่านที่มาร่วมขบวนการ ต้องขอปรบมือให้ในความแม่นยำเมื่อเทียบกับโคลท์ซีรี่ 70 พอยิงเสร็จถอดมาถ่ายรูปนี่ซิครับพวกร้องอุ๊ยตาย ลำกล้องถูกใช้ยิงมาหลายแสนลี้ แต่ทำไมแม่นนัก คณะทดสอบพอสรุปลงไปที่ว่า ปืนรุ่นเก่าที่เขาทำด้วยมือไม่ว่าจะเป็นพาราเบลลั่ม เมาเซอร์ต่อด้าม ไปจนถึงปืนรูปร่างพิลึกอย่างนัมบูของทหารเลือดอาทิตย์อุทัย มักพบว่ายิงได้ แม่นทำกลุ่มกระสุนพอสู้ปืนรุ่นหลานที่อายุห่างกันร่วมกึ่งศตวรรษได้ เพราะชิ้นส่วนมีความกระชับเหมาะเจาะโดยใช้มือทำแท้ๆ
คุณค่าที่ถูกลืม
มีช่างปืนรุ่นใหม่กระแนะกระแหนกันให้ได้ยินบ้างว่า ปืนไทยทำเหล่านี้สู้ฝรั่งไม่ได้ เครื่องมือก็เก่า 20-30 ปี แล้วมานั่งตะไบกันอย่างกับปืนเถื่อนแถวอุทัยธานี ในช่วงที่อเมริกันส่งอาวุธใหม่ๆมาช่วย แถมยกเครื่องสายการผลิตกระสุนปืนเล็กยาวให้ทันสมัยผลิตลูก .30-06 (ปลยบ.88) นั้นเป็นธรรมดาอยู่เองที่ของใหม่และฟรีเป็นที่พอใจคนหมู่มาก แนวคิด ที่จะทำเอง ออกแบบเอง ซึ่งปลูกฝังกันมาตั้งแต่สมัยดิ้นรนไม่ให้เป็นขี้ข้าฝรั่งเมื่อปลาย ร.5 มาจนสิ้นสงครามโลกจึงค่อยจางหายไปอย่างน่าเสียดาย จนทุกวันนี้ช่างแสงแปลงจากช่างผลิตมาเป็นแค่ช่างซ่อม งานยากเริ่มขาดทักษะทำไม่เป็นกันแล้ว แต่น่าพิลึกว่าทุกวันนี้มีฝรั่งที่จ่ารู้จักนั่งศึกษาหาความเป็นมาของปืนของไทยกันไม่ใช่น้อย ส่วนมากก็ไอ้พวกที่
เคยมาช่วย ทบ. เราสมัยก่อนนั่นละ เจอะผลงานช่างแสงไทยก็ติดตาติดใจ ขณะที่ไทยเรากลับลืมไปหมดไม่มานั่งบันทึกกันไว้บ้าง
คุณค่าของ ปพ.95/03 มิได้ลดลงไปเพียงเหตุว่าเราใช้เครื่องหรือใช้วิธีแสนโบราณทำ ค่าของมันอยู่ที่ความอุตสาหะ และประนีตในการสร้างซึ่งได้หายไปจากช่างแสงรุ่นไหม่แล้ว กอรปกับจำนวนผลิตที่ต่ำมากอันเป็นองค์ประกอบสำคัญ ของนักสะสม และผลการยิงที่เชื่อถือได้ต่างหาก ที่ทำให้จ่าชั้นผู้น้อยคนนี้พอใจ
จ่าน้อม ทหารหน้า
มีนาคม 2548
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : thailandoutdoor
Loading...