Loading...
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินเยียวยาให้กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ คนละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน หรือคนละ 15,000 บาท
ล่าสุด วันนี้ (7 เม.ย.) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายการจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มอีก 3 เดือน รวมเป็น 6 เดือน เบ็ดเสร็จแล้วกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 30,000 บาท แต่จะให้ทั้งหมด 9 ล้านคน โดยจะจ่ายเงินไปจนถึงเดือนกันยายนนี้ จากเดิมถึงแค่เดือนมิถุนายน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบมาตรการเยียวยา และดูแลเศรษฐกิจระยะที่ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังกู้เงิน ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 วงเงิน คือ จำนวน 600,000 ล้านบาท ใช้สำหรับแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งการเยียวยาประชาชน 6 เดือน, การเยียวยาเกษตรกร, รวมถึงการดูแลด้านสาธารณสุข กับวงเงิน 400,000 ล้านบาท ใช้ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
Loading...
พร้อมออก พ.ร.ก. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะ วงเงิน 500,000 ล้านบาท โดยจะให้กลุ่มเอสเอ็มอีกู้เงิน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 400,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้หารือถึงรายละเอียดเรื่องการตัดงบประมาณจากทุกกระทรวง เพื่อมาใช้แก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ด้วย และให้กระทรวงต่าง ๆ พิจารณาหามาตรการออกมาช่วยเหลือเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19
ส่วนเงินเยียวยา 5,000 บาท นาน 6 เดือน ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนไปแล้วกว่า 24 ล้านคน ขั้นตอนหลังจากนี้จะคัดกรองบุคคลที่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยาในส่วนนี้ โดยล็อตแรกจะเริ่มทยอยโอนเงินให้ในวันพรุ้งนี้ เป็นต้นไป (8 เม.ย.)
ที่มา bugaboo.tv
Loading...