ลูกโม่คลาสสิก โคลท์ ทรูปเปอร์ .38 สเปเชียล


Loading...


ย้อนหลังไปในปี ค.ศ. 1935 สมิธฯ ให้กำเนิดปืนลูกโม่ขนาด .357 แม็กนั่ม ใช้โครงปืนขนาดใหญ่ (N-Frame) ที่ต่อมาได้รหัสเป็น โมเดล 27 เป็นปืนตำรวจนิยมใช้กันมาก แต่มีข้อติว่า ตัวปืนใหญ่และหนัก ด้วยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโม่ 1.710 นิ้ว (43.4 มม.) ที่รับกระสุน .44 แม็กนั่ม และ .45 ได้สบาย โคลท์ พัฒนาโครงปืนที่เล็กกว่า คือโม่โตเพียง 1.550 นิ้ว (39.4 มม.) ที่เดิมเป็นรุ่น ออฟฟิสเซอร์ โมเดล ขนาด .38 สเปเชียล ขึ้นมาใช้กระสุน .357 แม็กนั่ม ในปี 1953 รุ่นแพงแต่งผิวเงาเรียกว่า .357 ตามชื่อกระสุน ส่วนรุ่นแต่งผิวปกติ เรียกว่า ทรูปเปอร์ (Trooper)

ต่อมาในปี 1955 โคลท์ เปลี่ยนโฉม ออฟฟิสเซอร์ โดยใส่ลำกล้องหนา เพิ่มฝักหุ้มก้านคัดปลอกยาวตลอด และสะพานโปร่งบนสันลำกล้อง พร้อมกับระดมช่างฝีมือดีในสังกัด มาร่วมงานปรับแต่งประกอบชิ้นส่วนซึ่งผลิตจากวัสดุชั้นดี ผลคือ ไพธ่อน (เดลินิวส์ 18 ม.ค. 14) ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นลูกโม่โรงงานระดับประณีตสุดยอดตลอดการ

จากความสำเร็จของ ไพธ่อน โคลท์ จึงเลิกผลิตรุ่น .357 แต่เพิ่มกระสุนขนาดนี้ในรุ่นประหยัดคือ ทรูปเปอร์ โดยมีให้เลือกทั้งแบบศูนย์ตายสำหรับเป็นปืนต่อสู้ และศูนย์ปรับได้แบบปืนยิงเป้าเหมือนปืนนายแบบของสัปดาห์นี้ กล่าวได้ว่า ทรูปเปอร์ คือ ไพธ่อนรุ่นประหยัด เพราะกลไกภายในเหมือนกันทุกประการ ต่างกันที่รูปทรงของลำกล้อง และการเก็บรายละเอียดตามขั้นตอนการผลิตเท่านั้น
Loading...

ทรูปเปอร์รุ่นแรกๆ ใช้เข็มแทงชนวนติดกับนก มาเปลี่ยนเป็นเข็มฝังโครงเหมือนไพธ่อนในปี 1961 ผลิตต่อเนื่องมาถึงปี 1969 จึงปรับปรุงครั้งใหญ่ เป็น ทรูปเปอร์ มาร์คทรี (Trooper Mk.III) จุดสำคัญคือเปลี่ยนสปริงนกสับ จากของเดิมเป็นแหนบแบน มาใช้สปริงขดลวด และเพิ่มความปลอดภัยด้วยระบบแท่งส่งกำลัง (transfer bar) ที่ต้องเหนี่ยวไกเข้ามาให้สุด แท่งนี้จึงจะยื่นขึ้นถ่ายทอดแรงนกสับถึงท้ายเข็มแทงชนวน ชิ้นส่วนภายในเปลี่ยนกรรมวิธีผลิต ได้มิติแม่นยำขึ้นลดการแต่งด้วยมือ ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก แต่ก็มีเสียงบ่นตามมาว่าความเรียบลื่นสู้รุ่นเก่าไม่ได้

จาก มาร์ค ทรี โคลท์ปรับแบบอีกครั้งในปี 1982 เป็น ทรูปเปอร์ มาร์คไฟว์ (Trooper Mk.V) โครงปืนเล็กลงมาระดับเดียวกับโครง K ของสมิธฯ (โม่ 1.45 นิ้ว, 36.7 มม.) และแน่นอนว่าต้องลดต้นทุนด้วยเทคโนโลยีทางวัสดุสมัยใหม่ไปพร้อมกัน ใช้สปริงนกสับยาวขึ้น ระยะนกสับสั้นลง ซึ่งทำให้ไกหนักขึ้นกว่าของเดิม ประกอบกับเป็นช่วง “ขาลง” ของปืนลูกโม่ ตลาดหันไปสนใจปืน “เก้าลูกดก” กันมาก ซึ่งโคลท์เองปรับตัวไม่ทันจนเกือบล้มละลาย จึงเลิกผลิต ทรูปเปอร์ รุ่นสุดท้ายนี้ ไปในปี 1985

สำหรับ ทรูเปอร์ .357 กระบอกในภาพนี้ อายุย่าง 50 ปี แต่จากเก็บรักษาที่ดี สภาพยังเหมือนใหม่ หากเทียบกับไพธ่อนในด้านความแน่นสนิทของชิ้นส่วน แทบไม่ต่างกัน มีที่ด้อยกว่าคือความมันเงาของผิวรมดำ และขอบตัวอักษร (roll mark) ต่างๆ จะคม ไม่ขัดเรียบเหมือนไพธ่อน ไกหนักกว่าเล็กน้อยแต่ยังจัดว่าเบาถ้าเทียบกับมาตรฐานปืนลูกโม่ของปัจจุบัน

ในการตรวจสภาพปืนลูกโม่โคลท์ สิ่งที่ต้องดูคือจังหวะล็อกโม่ต้องสัมพันธ์กับนกสับ เริ่มตรวจโดยดึงปุ่มล็อก เปิดโม่ ง้างนก ดู “ตีนผี” คือตัวล็อกโม่ที่ด้านล่างของโครง เมื่อเริ่มง้างนกชิ้นส่วนนี้ต้องขยับตัวทันที ค่อยๆ ยุบลงในโครงเมื่อนกง้างออกมากขึ้น และเมื่อยุบลงเสมอผิวโครงแล้วต้องดีดกลับทันที ไม่แสดงอาการฝืดหรือติดขัด ขั้นต่อไปปิดโม่ ง้างนกช้าๆ ด้วยนิ้วโป้งซ้าย มองใต้โม่ทางด้านขวาที่ ตัวล็อกโม่ต้องยุบตัวลงพ้นจากร่องจับบนตัวโม่ก่อนที่โม่จะเริ่มหมุน ถ้าโม่หมุนก่อนตัวล็อกพ้นทางปืนจะติดขัด ง้างนกให้โม่หมุนต่อไป สังเกตว่าตัวล็อกโม่ต้องดีดกลับขึ้นมาในรางก่อนถึงหลุมรับตัวล็อก ถ้าดีดขึ้นเร็วเกินไปโม่จะเป็นรอย และถ้าดีดขึ้นช้าเกินไปโม่อาจจะหมุนเกินตำแหน่ง ทำให้นกสับแล้วปืนไม่ลั่น

โดยรวม สำหรับทรูปเปอร์ รุ่นคลาสสิกนี้ จัดเป็นลูกโม่ชั้นดี กลไกภายในระบบเดียวกับไพธ่อน สามารถใช้เป็นปืนยิงเป้าซ้อมมือและลงแข่งระดับ “ปืนสั้นชาวบ้าน” ได้สบาย และใช้เฝ้าบ้านได้ดีเหมือนลูกโม่สมัยใหม่ทุกประการ
ข้อมูลสรุป Colt Trooper
ขนาดกระสุน .357 / .38 สเปเชียล โม่จุ 6 นัด
มิติตัวปืน ยาวxสูงxหนา : 280x138x39 มิลลิเมตร
ลำกล้องยาว (4,6 นิ้ว)
น้ำหนัก 1,060 กรัม
แรงเหนี่ยวไก ดับเบิล 6,300 กรัม (14 ปอนด์); ซิงเกิล 1,600 กรัม (3.5 ปอนด์)
วัสดุ เหล็กรมดำ
อื่นๆ ปรับแบบเป็น Trooper Mk.III (1969-82) และ Trooper Mk.V (1982-85)
ลักษณะใช้งาน ปืนสะสม, ยิงเป้า, พกซองนอก, ต่อสู้ระยะปานกลาง
ตัวเลือกอื่น Smith Model 14
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช
Loading...