ตัวเล็ก ไกเบาดับเบิล Para Carry C6.45 LDA ขนาด 11 มม.


Loading...
พารา-ออร์ดนานซ์ (Para-Ordnance) จดทะเบียนบริษัทในปี 1985 เป็นปีที่กองทัพสหรัฐปลดประจำการปืนพก M1911 ที่ใช้งานมานาน เปลี่ยนเป็น เบเร็ตต้า 92S ขนาด 9x19 มม. เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับกองทัพนาโตจากปืน .45 ไกซิงเกิล ซองกระสุนแถวเดี่ยว จุ 7 นัด ปรับตัวเป็น “เก้าลูกดก” ซองกระสุนสองแถว 15 นัด ไกดับเบิล/ซิงเกิ้ล สร้างกระแสนิยมปืน 9 มม. ในตลาดปืนอเมริกันอย่างกว้างขวาง




ผลงานที่สร้างชื่อให้ พารา-ออร์ดนานซ์ ตั้งแต่แรก คือโครงปืน 1911 โพรงด้ามกว้าง ที่ออกแบบให้รับซองกระสุนสองแถว บรรจุกระสุน .45 ได้ถึง 14 นัด ช่วยให้ปืนระบบ 1911 จุกระสุนใกล้เคียงกับปืน 9 มม. ส่วนใหญ่ในตลาด โดยระยะแรก พาราฯ ใช้วัสดุอะลูมินัมอัลลอยทำโครงปืน เพื่อลดน้ำหนักให้ชดเชยกับจำนวนกระสุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำขายเฉพาะโครงปืนก่อน ตลาดตอบรับดีจึงเริ่มทำปืนทั้งกระบอก ต่อมาได้รับความนิยมในหมูนักกีฬารณยุทธ์ ที่เน้นยิงบ่อยยิงมาก ชอบปืนลูกดกโดยไม่เกี่ยงน้ำหนัก พาราฯ จึงทำรุ่นเหล็กล้วนออกมาขาย



ในด้านการทำงานของไก โคลท์เองเคยพัฒนารุ่น ดับเบิล อีเกิล (Double Eagle) ให้ใช้ส่วนบนคือลำกล้องและลำเลื่อนของ 1911 เดิม แต่ช่วงล่างเปลี่ยนใหม่ ระบบไกใหม่เหนี่ยวไกแบบดับเบิลได้ แต่ชิ้นส่วนดัดแปลงที่อยู่ใต้ประกับด้ามด้านขวาทำให้ด้ามหนา ประกอบกับระยะเหนี่ยวไกยาว ใช้งานไม่ถนัด ไม่ถูกใจผู้ที่เคยใช้ 1911 เดิม ทั้งยังไม่สามารถดึงลูกค้ากลุ่มที่ต้องการปืนไกดับเบิลมาได้ ผลการยิงไม่ประทับใจ ทำอยู่ไม่นานก็ต้องเลิกผลิต



พาราฯ เห็นข้อผิดพลาดของโคลท์ ประกอบกับตัวอย่างความสำเร็จของปืนไกดับเบิลสับครั้งเดียว (Double-action, single strike) เช่น กล็อก จึงออกแบบระบบไกและนกสับใหม่ แบ่งการทำงานของนกสับเป็นสองส่วน ชั้นนอกคือส่วนที่มองเห็นเป็นนกสับท้ายลำเลื่อน ชั้นในซ่อนในโครงด้ามมีส่วนรับสปริงนกสับและเซียร์ เมื่อดึงลำเลื่อนขึ้นลำ นกชั้นนอกง้างมาด้วยแรงดันของท้ายลำเลื่อน มีแง่ดึงให้นกชั้นในหมุนบนแกน กดสปริงนกสับเตรียมไว้ แต่เมื่อปล่อยลำเลื่อนเดินหน้า นกชั้นนอกจะเลื่อนตามเหมือนลดนก มีเพียงนกชั้นในที่ง้างพร้อมอยู่



ปืนในสภาพนี้สามารถเข้าห้ามไกเพื่อล็อกนกชั้นในเพิ่มความปลอดภัยได้ เมื่อต้องการยิงจึงปลดห้ามไกแล้วเหนี่ยวไกลากยาว นกชั้นนอกง้างมาเหมือนไกดับเบิล แต่ใช้แรงน้อยมากระดับ 3 ปอนด์ เพราะมีเพียงแรงต้านจากสปริงตัวเล็กที่คุมนกชั้นนอกเท่านั้น ไม่ต้องง้างสปริงหลักตัวที่ซ่อนอยู่หลังด้าม จนเมื่อเหนี่ยวไกมาถึงจังหวะสอง สะพานไกจึงปลดเซียร์ ให้นกชั้นในหมุนด้วยแรงสปริงหลัก พานกชั้นนอกสับลงท้ายเข็มแทงชนวน จุดระเบิดให้กระสุนทำงาน จากนั้นลำเลื่อนถอยหลังง้างนก แล้วเดินหน้าบรรจุกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิงเหมือนระบบกึ่งอัตโนมัติทั่วไป ถ้ากระสุนด้านลำเลื่อนไม่ถอย การเหนี่ยวไกซ้ำจะไม่ง้างนกชั้นใน มีเพียงนกชั้นนอกที่ขยับง้างและสับลง ไม่แรงพอจุดชนวนได้ พาราฯ ตั้งชื่อการทำงานนี้ว่า Light Double Action ที่ย่อเป็นชื่อรุ่น LDA





ปัจจุบัน พารา-ออร์ดนานซ์ ย้ายฐานจากประเทศแคนาดา มาเป็นบริษัทอเมริกันเต็มตัว โดยกลุ่มทุนใหญ่ซื้อรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของ เรมิงตัน ชื่อบริษัทเปลี่ยนเป็น Para USA และปืน C6.45 LDA นี้ เปลี่ยนชื่อเป็น LDA Carry มีเพื่อนรุ่นพี่คือ LDA Officer ลำกล้อง 3.5 นิ้ว จุกระสุน 7+1 นัด.