Loading...
สมิธแอนด์เวสสัน ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำในการผลิตปืนลูกโม่ มีคู่แข่งร่วมชาติที่เก่าแก่พอกัน คือ โคลท์ แต่ในด้านปืนกึ่งอัตโนมัติ โคลท์ ได้ จอห์น เบรานิงก์ มาช่วยออกแบบเพียงคนเดียว สามารถผลิตปืนอมตะ 1911 ที่กองทัพสหรัฐสั่งซื้อเข้าประจำการตลอดสงครามโลกทั้งสองครั้ง ส่งผลให้โคลท์เป็นผู้นำด้านปืนพกกึ่งอัตโนมัติตลอดครึ่งแรกของศตวรรษที่ยี่สิบ
หลังสงครามโลกครั้งที่สองต้นทศวรรษ 1950 กองทัพสหรัฐมีแผนจะเปลี่ยนมาใช้ปืน 9 มม. ที่ตัวเบากว่า 1911 เดิม โคลท์ดัดแปลงปืน “กัฟเวิร์นเมนท์” ลำกล้อง 5 นิ้ว มาเป็น “คอมมานเดอร์” ลำกล้อง 4.25 นิ้ว โครงอัลลอย ส่วน สมิธ นำระบบขัดกลอนของเบรานิงก์ไฮเพาเวอร์ ไปผนวกกับไกดับเบิล/ซิงเกิล ที่ดูแบบจาก วอลเธอร์ P38 ได้ปืน 9 มม. ใช้โครงอัลลอยเช่นกัน คือโมเดล 39 แต่ทั้ง โคลท์ และ สมิธ ต้องผิดหวัง เมื่อกองทัพเปลี่ยนใจ ไม่สั่งซื้อปืนใหม่ ใช้ .45 ตัวเก่าต่อมาอีกสามสิบปี ทั้งโคลท์ คอมมานเดอร์ และ สมิธ 39 จึงออกมาขายแข่งกันในตลาดเอกชน
จากโมเดล 39 สมิธเริ่มจับกระแส “เก้าลูกดก” ด้วยการปรับโครงปืนรับซองกระสุนสองแถว จากที่เคยจุ 8 นัด ขยายเป็น 14 นัด มากกว่าไฮเพาเวอร์อยู่หนึ่งนัด เรียกว่าโมเดล 59 ขายอยู่สิบปีเศษในช่วงทศวรรษ 1970 จากนั้นแยกเป็นสามรุ่นพร้อมกับเพิ่มเลขรหัสเป็นเลขสามหลัก คือ 459 โครงอัลลอย, 559โครงเหล็ก และ 659 เป็นสเตนเลสทั้งกระบอก ปืนชุดรหัสสามหลักนี้ เรียกกันว่าเป็น Second Generation ของสมิธ ขายอยู่ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่เป็นจุดสูงสุดของปืน “เก้าลูกดก” ซองกระสุนสองแถว ไกดับเบิล/ซิงเกิล
Loading...
สมิธ โมเดล 5906 ใช้กระสุน 9 มม. ลูเกอร์ ซองกระสุนจุ 15 นัด ระบบกึ่งอัตโนมัติทำงานด้วยรีคอยล์ ขัดกลอนด้วยลำกล้องกระดกตามหลักการเบรานิงก์ คุมด้วยผิวเอียง มีสันขัดกลอนซ่อนหน้าช่องคัดปลอก, จุดชนวนด้วยนกสับ, ไกเป็นแบบ ดับเบิล/ซิงเกิล มีคันนิรภัยบนลำเลื่อน, ขึ้นลำนกง้างแล้วเข้าห้ามไกจะลดนกอัตโนมัติ, เมื่อต้อง การยิงปลดห้ามไกเหนี่ยวนัดแรกได้ทันที, มีระบบนิรภัยเพิ่มคือแม็ก กาซีนเชื่อมสะพานไก เมื่อปลดแม็กฯ แล้วไกไม่ทำงาน
ปืน 5906 นายแบบของสัปดาห์นี้ สภาพสมบูรณ์เรียบร้อยเหมือนใหม่ เทียบการใช้งานกับปืนเข็มพุ่งโครงโพลิเมอร์ ลำกล้อง 4 นิ้วระดับคอมแพ็คด้วยกันจุกระสุนใกล้เคียงกัน สมิธฯ จะหนักกว่าประมาณ 400 กรัม ข้อดีคือยิงนิ่มนวลกว่ารีคอยล์น้อยกว่า ข้อเสียคือพกพาไม่สบายเอวเท่าปืนเบา จุดที่ 5906 เหนือกว่า คือไกซิงเกิลที่หลุดคม และระยะคืนไกเพื่อยิงซ้ำสั้นกว่ามาก.
...................................
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช
Loading...