สมิธ แอนด์ เวสสัน โมเดล 686


Loading...
ทำนองรบหลัก” เป็นชื่อหลักสูตรการใช้อาวุธปืนขั้นพื้นฐาน เปิดสอนโดยชมรมกีฬายิงปืน สโมสรข้าราชการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ติดต่อกันมาหลายสิบปี ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 117 มีศิษย์เก่าจบหลักสูตรนี้ไปแล้วหลายพันคน  เนื้อหาสำคัญคือการใช้ปืนให้ปลอดภัย ได้ผลและถูกต้องตามกฎหมายในหลักสูตรพื้นฐานนี้ กำหนดให้ผู้เข้าเรียนใช้ปืนลูกโม่ลำกล้องไม่เกิน 4 นิ้วเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน สำหรับการฝึกซ้อมและยิงทำคะแนนสอบ  ซึ่งนับว่าเหมาะสมดีมีเหตุผล เพราะโดยรูปแบบของตัวปืนใช้งานง่าย  ไม่ต้องกังวลเรื่องปืนขัดข้อง จบหลักสูตรแล้วใช้เป็นปืนเฝ้าบ้านป้องกันชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างดีปืนที่นักเรียนรบหลักนิยมกันมากที่สุดคือ สมิธแอนด์เวสสัน รุ่น 686 (Smith & Wesson Model 686) 



ซึ่งนอกจากรหัสรุ่นเป็นตัวเลขแล้ว ทางโรงงานยังตั้งชื่อไว้ว่า “ดิสติงกวิช คอมแบต แม็กนั่ม” (Distinguished Combat Magnum) บ่งบอกว่าเป็นวิวัฒนาการต่อเนื่องของปืนลูกโม่ยอดนิยมของตำรวจ คือ โมเดล 15 “คอมแบต มาสเตอร์พีส” (Combat Masterpiece) ขนาด .38 สเปเชียล โม่ 6 นัด ยกระดับปรับเนื้อเหล็กแข็งแรงขึ้น โม่ยาวกว่าเดิมเล็กน้อยให้ใช้กระสุน .357 แม็กนั่ม เพิ่มฝักหุ้มก้านคัดปลอกใต้ลำกล้องช่วยถ่วงน้ำหนัก เรียกว่าโมเดล 19 “คอมแบต แม็กนั่ม” (Combat Magnum) และจากนั้นเมื่อเปลี่ยนวัสดุเป็นเหล็กปลอดสนิม โมเดล 19 กลายเป็นโมเดล 66 ซึ่งเป็นรุ่นขายดีมากรุ่นหนึ่งของสมิธฯ ต่อมาในปี ค.ศ. 1980 สมิธฯ ขยายโม่ของโมเดล 66 ให้หนาขึ้นประมาณ 3 มิลลิเมตรเพื่อเพิ่มความแข็งแรง จึงต้องขยายโครงปืนให้ใหญ่ขึ้นตามส่วนแต่รักษาขนาดด้ามไว้เท่าเดิม จากโครง K กลายเป็นโครง L เพิ่มฝักหุ้มก้านคัดปลอกให้ยาวตลอดถึงปลายลำกล้อง กลายเป็นโมเดล 686 ที่เห็นอยู่นี้ 


Loading...

สุดท้ายในปี ค.ศ. 1996 ทำรุ่น 686 “แม็กนั่ม พลัส” (Magnum Plus) ใช้โม่จุได้  7 นัด โดยขนาดภายนอกของตัวโม่และโครงปืน เท่ากับ 686 รุ่น 6 นัด ทุกประการจากโมเดล 15 มาถึงโมเดล 686 สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมคือเป็นปืนลูกโม่โครงขนาดกลาง ทำงานแบบดับเบิลแอ๊คชั่น (double action) เหนี่ยวไกยิงได้โดยไม่ต้องง้างนกก่อน ลำกล้องมาตรฐาน 4 นิ้ว ศูนย์หลังปรับได้แบบยิงเป้า ศูนย์หน้าลาดแบบปืนต่อสู้ สิ่งที่เปลี่ยนไปนอกจากวัสดุก็คือน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเกือบ 200 กรัม จากเนื้อเหล็กที่หนาขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแรงทนทานให้เหมาะกับการใช้งานด้วยกระสุน .357 แม็กนั่ม ที่แรงดันในรังเพลิงสูงกว่า .38 สเปเชียลมาก  และมีผลพลอยได้จากน้ำหนักที่เพิ่มคือ ลดอาการสะบัดของปืนเมื่อยิงกระสุนแรงสูง และถ้าเป็นกระสุนยิงเป้าอย่าง .38 หัวตัด จะนุ่มนวลแม่นยำมากการเรียกชื่อกระสุนสองขนาดนี้ สร้างความสับสนอยู่บ้าง  



เพราะแม้ว่าชื่อที่เป็นตัวเลข .357 กับ .38 จะต่างกันชัดเจน แต่ขนาดหัวกระสุนและปลอกกระสุนเท่ากันเกือบทุกมิติ  ผิดกันเพียงความยาวของปลอก .357 ยาวกว่าอยู่ 1/10 นิ้ว  ซึ่งเป็นจุดประสงค์ในการออกแบบตั้งแต่แรก ให้ปืนที่ทำรังเพลิงไว้สำหรับกระสุน .357 แม็กนั่ม สามารถใช้กระสุน .38 สเปเชียล ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น (หน้าตัดจริงของกระสุน .38 สเปเชียล คือ .357 นิ้ว) แต่ในทางกลับกัน ไม่สามารถใช้กระสุน .357 ในปืน .38 ได้ เพราะรังเพลิงสั้นกว่า กระสุนเข้าไม่สุด ปิดโม่ไม่ได้   จุดนี้มีนัยสำคัญทางกฎหมาย  เนื่องจากกฎหมายไทยยอมให้ประชาชนมีกระสุนปืนไว้ในครอบครองเฉพาะที่สำหรับใช้กับปืนที่ได้รับใบอนุญาตถูกต้องเท่านั้น 



ศิษย์เก่าทำนองรบหลักที่ใช้ สมิธฯ 686 น่าจะยืนยันได้ตรงกันว่ากระสุน .38 สเปเชียล เป็นกระสุนสำหรับใช้กับปืนขนาด .357 ตรงตามข้อกำหนดของผู้ผลิตทั้งปืนและกระสุนโดยรวม สมิธฯ 686 เป็นปืนลูกโม่ใช้งานหนัก วัสดุเหล็กปลอดสนิมดูแลง่าย ความแม่นยำสูง เหมาะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามพกซองนอก หรือเป็นปืนเฝ้าบ้าน  กระสุนหาง่ายมีขายในทุกสนามซ้อม   ถ้าจะเลือกระหว่างรุ่น 6 นัด กับ 7 นัด  ลองดูที่การทำงานของไกดับเบิล รุ่น 7 นัดเมื่อเหนี่ยวไกช่วงแรกโม่ยังไม่หมุน ให้ความรู้สึกว่าน้ำหนักไกไม่สม่ำเสมอตลอดทางเหมือนรุ่น 6 นัด  แต่ในด้านความแข็งแรงของโม่ไม่ต่างกัน แม้ว่าผนังระหว่างช่องรังเพลิงของรุ่น 7 นัดจะบางกว่า แต่ร่องรับตัวล็อกโม่อยู่ตรงที่เนื้อเหล็กหนาที่สุด ในขณะที่ร่องนี้ของรุ่น 6 นัดอยู่ตรงที่เนื้อเหล็กบางที่สุด หักล้างกันไป. 

ดร ผนิศวร ชำนาญเวช
Loading...