ผู้ก้าวข้ามสงครามเย็น...ซีแซด 75B


Loading...
ประเทศเชโกสโลวาเกียถูกเยอรมนียุคนาซีเรืองอำนาจเข้ายึดครองเมื่อปี ค.ศ.1939 และเพียงสองปีต่อมา โลกก็เข้าสู่มหาสงครามครั้งที่สอง ซึ่งในที่สุดเยอรมนีเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เชโกฯ เป็นอิสระอีกครั้งในปี ค.ศ.1945 ทวีปยุโรปถูกแบ่งแยกเป็นสองฝ่าย ตะวันออก กับ ตะวันตก หรือ “สังคมนิยม” กับ “ทุนนิยม” โดยฝ่ายแรกมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ ฝ่ายหลังมีสหรัฐ ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปเป็นนักเลงใหญ่ จัดตั้ง “นาโต้” (NATO) เป็นกองทัพรวมหลายชาติ ไว้คานอำนาจโซเวียตโดยเฉพาะ มีการเผชิญหน้าตึงเครียดเป็นระยะ ๆ แต่ยังไม่ถึงขั้นใช้กำลังทหารรบกันจริง เรียกโดยทั่วไปว่า “สงครามเย็น” โดยเชโกฯ เป็นหนึ่งในกลุ่มยุโรปตะวันออก



เยอรมนีช่วงเตรียมตัวเข้าสงคราม ทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตอาวุธอย่างจริงจัง หลังแพ้สงครามเครื่องจักรเครื่องกลการผลิตเหล่านั้นจึงถูกประเทศ “ผู้ชนะ” หรือ “ผู้เสียหาย” แบ่งแยกยึดไปเป็นค่าปฏิกรณ์สงคราม ที่น่าสนใจคือมีเครื่องผลิตลำกล้องปืนล้ำยุคด้วยกระบวนการ “แฮมเมอร์ฟอร์จ” (hammer forge) เครื่องหนึ่ง ตกเป็นของเชโกฯ โรงงาน “บรอโน” (Brno) ได้ใช้ผลิตลำกล้องปืนลูกกรดต้นตระกูลของ “ซีแซด 452” ที่บ้านเรารู้จักกันดี



สำหรับอุตสาหกรรมอาวุธปืนนี้ เชโกสโลวาเกีย จัดเป็นดาวเด่นของค่ายสังคมนิยม ปืนยี่ห้อ “ซีแซด” (CZ : ย่อจาก Ceska Zbrojovka) จากเชโกฯ ขายดีเกือบทั่วโลก มียกเว้นเพียงในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด เพราะในยุคสงครามเย็นนั้น ผู้นำเข้าสหรัฐ ไม่สามารถสั่งซื้อปืนจากประเทศ “ฝ่ายตรงข้าม” ได้ จะมีการนำเข้าปืนจากโซเวียต หรือเชโกฯ บ้าง ก็ต้องสั่งจาก แคนาดา หรือออสเตรเลีย เป็นต้น



ปืนพกรุ่นที่โด่งดังที่สุดของซีแซด คือ โมเดล 75 ออกแบบสำเร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1975 และบรรจุเข้าประจำการในหน่วยงานตำรวจของเช็กในปี ค.ศ.1976 พร้อม ๆ กับการส่งออกขายทั่วโลก และมีหลายบริษัทที่ลอกแบบซีแซด 75 ไปผลิตติดยี่ห้อต่าง ๆ ซึ่งซีแซดก็ไม่ได้ติดตามฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแต่อย่างใด นัยว่าไม่ได้จดสิทธิบัตรระดับสากลไว้แต่แรก ซีแซดผลิตโมเดล 75 อยู่สิบปีเศษ ก็ปรับแบบเป็น 75B โดยเพิ่ม “สมอ” คือตัวล็อกเข็มแทงชนวน เสริมระบบความปลอดภัยคือป้องกันปืนลั่นกรณีหล่นกระแทกพื้น
Loading...



ซีแซด 75B ใช้ระบบกึ่งอัตโนมัติ ทำงานด้วยรีคอยล์ ลำกล้องยาว 4.7 นิ้ว มีสันขัดกลอนกับลำเลื่อนด้านในหน้ารังเพลิง ท้ายลำกล้องกระดกลงเพื่อปลดกลอน และกระดกกลับขึ้นในจังหวะเดินหน้าเพื่อขัดกลอน ซึ่งเป็นผลงานคิดค้นของเบรานิงก์ ใช้อยู่กับปืน 1911 ของโคลท์ และ ไฮเพาเวอร์ ของเอฟเอ็น/เบรานิงก์ ข้อแตกต่างของ

ซีแซด คือควบคุมการกระดกของลำกล้องด้วยห่วงลูกเบี้ยว และทำโครงปืน หุ้มลำเลื่อน ซึ่งสองจุดหลังนี้เป็นการออกแบบของ ชาร์ล เพ็ตเตอร์ (Charles Petter) ใช้อยู่กับปืน ซิก 210 ของสวิส แต่ซีแซดเปลี่ยนระบบการทำงานของไกให้ทันสมัยขึ้น คือเหนี่ยวไกนัดแรกแบบ “ดับเบิล” ได้ไม่ต้องง้างนกก่อน และเมื่อลั่นกระสุนนัดแรกไปแล้ว ปืนจะทำงานง้างนกให้เอง นัดต่อ ๆ ไปเป็นการยิงแบบ “ซิงเกิล” ที่แรงต้านของไกน้อยกว่าแบบดับเบิล



อีกจุดหนึ่งที่ ซีแซด รับมาจาก เบรานิงก์ ไฮเพาเวอร์ ก็คือซองกระสุน “สองแถว” โดยเพิ่มความจุเป็น 15 นัด ทั้งหมดทำให้ ซีแซด 75B จัดเป็นปืน “เก้าลูกดก” สมัยใหม่เต็มตัว โดยสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของซีแซด คือสามารถพกในสภาพพร้อมใช้งานได้ทั้งแบบ “ดับเบิล” ลดนกไว้ หรือ “ซิงเกิล” นกง้างแต่เข้าห้ามไก เหมือนปืน 1911

ปี ค.ศ.1990 เยอรมันตะวันออกรื้อกำแพงเบอร์ลิน ปี ค.ศ.1991 สหภาพโซเวียตล่มสลาย สิ้นสุดสงครามเย็น ปืนซีแซดส่งเข้าไปขายในสหรัฐ ได้ และในปี ค.ศ.1993 เชโกสโลวาเกีย แยกตัวเป็นสองประเทศตามเชื้อชาติเดิม คือ สาธารณรัฐเช็ก กับ สโลวาเกีย ปืน “ซีแซด” ที่ผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 เป็นต้นมาจึงเปลี่ยนอักษรบ่งบอกแหล่งผลิต จาก Czechoslovakia เป็น Czech Republic สุดท้ายในปี ค.ศ.1998 ซีแซด ตั้งบริษัท CZ-USA เป็นตัวแทนจำหน่ายปืนซีแซดในสหรัฐ โดยตรง อาจนับได้ว่าเป็นชัยชนะของประเทศเล็ก ๆ ที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้พ่ายแพ้สงครามเย็น เฉพาะปืนรุ่นนี้ ซีแซดผลิตขายไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านกระบอก




โดยรวม ซีแซด 75B เป็นปืนขนาดตัวมาตรฐาน สำหรับเจ้าหน้าที่พกซองนอก วัสดุเหล็กล้วน ล่าสุดมีเหล็กสเตนเลสให้เลือก ความแม่นยำสูงเมื่อเทียบกับปืนระดับใช้งานอื่น ๆ ระบบไก (ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ “โอเมกา”) เหนี่ยวยิงนัดแรกแบบดับเบิลได้ หรือจะง้างนกเข้าห้ามไกเตรียมพร้อม เหมือนปืนซิงเกิลล้วนอย่าง 1911 หรือ เบรานิงก์ ไฮเพาเวอร์ก็ได้ ซองกระสุนจุ 15 นัด เหลือเฟือสำหรับการใช้งานต่อสู้ในระดับที่ใช้ปืนพก ถ้าจะมีจุดด้อยอยู่บ้าง ก็คือระบบโครงหุ้มลำเลื่อน เหลือพื้นที่ลำเลื่อนให้จับดึงน้อยกว่าระบบลำเลื่อนหุ้มโครง ผู้ที่ไม่คุ้นอาจดึงลำเลื่อนไม่ถนัด.
Loading...