ขึ้นภาษีอาวุธปืน จ่ายรายปีกระบอกละพัน ยึดแนวโรงเรือน-ท้องที่


Loading...


มหาดไทยเล็งปรับเพดานจ่ายภาษีอาวุธปืนสูงสุด 1,000 บาทต่อปี ล้างกม.โบราณ ยึดหลักเกณฑ์เดียวกันกับ “ภาษีโรงเรือนท้องที่-ต่อทะเบียน” รอออกกฎกระทรวงรองรับ หลังรัฐบาลไฟเขียวส่งสนช.พิจารณาผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ใน หัวข้อที่ 2 ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของกระทรวงมหาดไทย ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้วและให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
       ด้านแหล่งข่าวในกระทรวงมหาดไทย เปิดเผย ว่าร่างพรบอาวุธปืนฯ ฉบับนี้ มีสาระสำคัญ โดยเฉพาะในประเด็นที่ 13.กำหนดให้แก้ไขบทกำหนดโทษ และปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจว่า ในเรื่องอัตราค่าธรรมเนียมเราไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2490 ในบางพื้นที่เสียค่าธรรมเนียมอาวุธปืนเพียงปีละ 5 บาทเท่านั้น จากเพดานขั้นสูงสุด 100 บาทต่อปี
      แต่ในร่างพ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.... นี้ คาดว่าจะปรับค่าธรรมเนียมขึ้นมาเป็น 10 เท่า จาก 100 บาทต่อปี เป็น 1,000 บาทต่อปี ซึ่งจะคล้ายกับหลักเกณฑ์การเก็บภาษีแบบโรงเรือนท้องที่ หรือการต่อทะเบียนภาษีต่างๆ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะจะต้องไปออกกฎกระทรวงรองรับอีกครั้งว่า เดิมทีเราเคยเก็บค่าธรรมเนียมที่เพดานขั้นสูงสุด 100 บาท แต่ถ้ากฎหมายใหม่ กำหนด 1,000 บาท เราอาจจะเก็บจริง 200 – 300 บาทต่อปี ส่วนเพดานขั้นสูงสุด 1,000 บาท ก็จะใช้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ ขณะที่บทกำหนดโทษ จะเพิ่มในสัดส่วนโทษปรับจากของเดิม 20,000 บาท ก็จะเพิ่ม 10 เท่าเช่นกัน เป็น 200,000 บาท จะใช้เฉพาะสำหรับผู้ที่กระทำความผิดตามพ.ร.บ.เท่านั้น
       “การแก้ไขบทกำหนดโทษ และปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม ไม่น่าจะเป็นข้อเสีย แต่จะเป็นผลดี เพราะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และไม่กระทบกับประชาชนโดยทั่วไป แต่อาจกระทบกับผู้ที่ขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ที่มีเหตุผลความจำเป็นในการใช้จริงๆ ทางราชการถึงจะอนุญาตให้ ส่วนใหญ่คนเหล่านี้ต้องมีทรัพย์สินที่มีค่าพอสมควร หรือต้องป้องกันตัว ปกป้องทรัพย์สินจึงต้องมาขออนุญาต หรือค่อนข้างมีเงินมาซื้อปืน ไม่ใช่บริการสาธารณะ คนทั่วๆไปจะไม่ค่อยมี กรณีดังกล่าวมองว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มรายได้เข้ารัฐโดยตรง เพราะค่าธรรมเนียมปืนรายกระบอกถือว่ามีไม่มาก เช่น ที่ผ่านมาเก็บปีละ 5 บาท หากเพิ่มมาเป็นปีละ 50 บาท ก็ยังไม่ถือว่ารายได้มาก ถ้าจะเรียกได้ว่าคุ้มกับภาระที่ราชการต้องมาจัดแจง ก็จะเหมาะสมกว่า ไหนจะต้องเสียค่าระบบ ค่ากระดาษ หรือจ้างข้าราชการมาคอยดูแลก็จะคุ้มกับตรงนี้มากกว่า ผมถือว่าข้อกำหนดนี้ เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเราไม่ได้แก้มานานแล้ว ส่วนจะเคาะที่อัตราค่าธรรมเนียมเท่าไหร่นั้น ต้องรอกฎกระทรวงออกมารองรับอีกครั้งหนึ่ง ถ้าหากว่ายังไม่มีกฎกระทรวงก็จะต้องใช้ของเดิมไปก่อน” แหล่งข่าว กล่าว
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลในเมื่อปี 2554 อาวุธปืนที่ทางราชการอนุญาตให้บุคคลครอบครองทั่วประเทศมี 2 ประเภท คือ อาวุธปืนสั้นจำนวน 3,675,320 กระบอก อาวุธปืนยาวจำนวน 2,450,214 กระบอก ปีนี้ 2559 น่าจะมีอาวุธปืนที่ถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 8 ล้านกระบอก ปกติการจะมีปืนถูกต้องตามกฎหมายต้องขออนุญาตจากมหาดไทยจ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : gunsafethailand