รัฐดันช่างปืนไทยประดิษฐ์ ผลิตปืนป้อนกองทัพ


Loading...


ขึ้นชื่อว่า “ปืน” ฝ่ายที่คัดค้านหรือเห็นต่าง ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่ไม่ชอบอาวุธปืนอยู่แล้ว โดยมากมองและให้เหตุผลว่า การผลิตปืน ถึงอย่างไร ก็เป็นเรื่องไม่ดี เพราะเป็นอาวุธที่นำไปใช้เข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกัน
แต่ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า ปืนก็เหมือนกับอีกหลายสรรพสิ่งในโลกนี้ โดยยกตัวอย่างมีดที่ใช้ถางหญ้า หรือใช้ทำกับข้าว
มีดเล่มเดียวกัน...ถ้าผู้ใช้นำไปหั่นผัก หั่นปลา ถางหญ้า หรือทำประโยชน์ มันก็ไม่ก่อพิษภัยให้แก่ผู้ใด แต่เมื่อใดที่นำไปใช้แทง หรือปาดคอคน เมื่อนั้นก็จะกลายเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือของผู้ร้ายไปในทันที
ปืนก็เช่นกัน...วัตถุประสงค์หรือหน้าที่หลักของมัน คือ มีไว้ให้สุจริตชนใช้ป้องกันตัว ป้องกันทรัพย์สิน ปกป้องคนที่รักให้พ้นจากเภทภัย ไปจนกระทั่งป้องกันประเทศชาติจากการถูกข้าศึกศัตรูรุกราน ในบริบทนี้ถือว่าเป็นคุณ แต่หากถูกคนเลวนำไปใช้จี้ปล้น หรือทำร้ายผู้อื่นโดยไม่สมควร มันก็จะกลายเป็นเครื่องมือของโจรร้าย

ดังนั้น ฝ่ายที่เห็นด้วยจึงให้บทสรุปว่า สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ จึงขึ้นอยู่กับตัวผู้นำไปใช้ บริบท และวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งานต่างหาก
ส่วน พล.อ.ประวิตร เจ้าของนโยบาย ให้เหตุผลเรื่องนี้ว่า การนำนักโทษในคดีผลิตอาวุธปืนเถื่อนมาอบรมหรือแลกเปลี่ยนความรู้ในการผลิตปืนแก่เจ้าหน้าที่กรมสรรพาวุธทหารบกนั้น เป็นการดึงเอาภูมิปัญญาความรู้จากคนเหล่านั้นว่า สามารถผลิตปืนพกสั้นได้อย่างไร นำมาใช้สอนทหารของเรา ให้สามารถพัฒนาและผลิตปืนสั้นไว้ใช้งานได้เอง เพราะที่ผ่านมา เมืองไทยยังผลิตปืนสั้นเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาการซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก
จึงมีการขอตัวนักโทษเหล่านี้มาช่วยสอนทหารผลิตปืน เพราะคนเหล่านี้มีความรู้ ความชำนาญ ซึ่งในอนาคตอาจมีการนำตัวมาช่วยผลิตปืนให้แก่กระทรวงกลาโหม ซึ่งปัจจุบันไทยเรามีศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และพลังงานทหาร เป็นหน่วยงานรองรับอยู่แล้ว

หลังจากได้รับแนวนโยบายดังกล่าว ทาง พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้สั่งการไปยังเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ให้สำรวจผู้ต้องขังที่ต้องโทษคุมขังในคดีผลิต ดัดแปลง สิ่งเทียมอาวุธปืน ซึ่งล่าสุดพบว่า มีผู้ต้องขังในคดีผลิตและครอบครองปืนเถื่อน รวมทั้งสิ้น 11 ราย
จึงได้มอบหมายให้ทางเรือนจำไปตรวจสอบเบื้องต้น เพื่อรวบรวมประวัติรายชื่อ พร้อมทั้งพฤติการณ์แห่งคดี จัดส่งไปให้กรมสรรพาวุธทหารบก โดยกรมราชทัณฑ์และกรมสรรพาวุธทหารบกจะร่วมกันพิจารณาผู้ต้องขังแต่ละรายในเชิงลึกอีกชั้นว่า ใครสมควรจะได้รับการส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
เพื่อจะได้นำเอาความรู้ความสามารถของบุคคลเหล่านั้น ไปใช้งานในทางที่ถูกต้อง ช่วยเหลืองานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศต่อไป
Loading...

กรณีดังกล่าวในมุมมองของ ประหยัด วรเวท หรือ “ช่างหรั่ง” อดีตผู้เคยคลุกคลีอยู่กับช่างทำปืนเถื่อน (บิดาของเขาเองก็เคยเป็นอดีตช่างทำปืนเถื่อนฝีมือดี) ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ตกแต่งกิ่งไม้และเครื่องมือการเกษตร อยู่ที่หมู่บ้านหาดทะนง ต.หาดทะนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี
ช่างหรั่งบอกว่า ในอดีตการผลิตปืนแถวหมู่บ้านหาดทะนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี กับที่หมู่บ้านอีเติ่ง ต.น้ำทรง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตรอยต่อของสองจังหวัด สมัยเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ช่างทำปืนเถื่อนของทั้งสองพื้นที่นี้มีความเก่งกาจสามารถถึงขนาดผลิตปืนพกสั้นได้ทั้งกระบอก โดยมีอุปกรณ์เพียง ตะไบเหล็ก เลื่อยตัดเหล็ก สว่านมือและ เตาอั้งโล่ใช้หลอมโลหะ เท่านั้น
การทำปืนเถื่อนยุคนั้นไม่มีทั้ง หินเจียร สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า มอเตอร์เจาะเหล็ก และ ตู้เชื่อม ให้ใช้เหมือนทุกวันนี้ แต่ละชิ้นส่วนจึงต้องทำกันขึ้นมาด้วยมือ หรือที่เรียกว่า “แฮนด์ เมด” ล้วนๆ
แต่ช่างปืนเถื่อนเหล่านั้นก็สามารถผลิตปืนขึ้นมาได้ทั้งกระบอก ภายในเวลาเพียง 2-3 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ แล้วแต่ฝีมือความชำนาญ และความประณีตในชิ้นงานของช่างแต่ละราย
“ช่างแถวบ้านอีเติ่ง พยุหะคีรี จะมีชื่อเสียงและความชำนาญในการทำปืนลูกซองสั้นหักลำ หรือที่เรียกกันว่า อีโบ๊ะ ส่วนทางฝั่งบ้านผม แถวหาดทะนง อุทัยธานี จะเก่งเรื่องทำปืนพก แบบแมกกาซีน”
ช่างหรั่งบอกว่า การทำปืนเถื่อนหรือที่เรียกว่า ปืนไทยประดิษฐ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ยังคงต้องทำกันแบบหลบๆซ่อนๆหูตาเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ผลิตปืน จึงหากันได้แบบตามมีตามเกิด
“ยกตัวอย่าง ปืนเถื่อนของบ้านเรา ตัวลำกล้องใช้เหล็กกล้าชุบแข็ง เทียบกับลำกล้องปืนของโรงงานผลิตปืนในต่างประเทศ ลำกล้องเขาทำมาจากเหล็กหล่อเป็นชิ้นๆ ได้มาตรฐานกว่า” ช่างหรั่งเปรียบเทียบ
“หรืออย่างเวลาจะทำเกลียวในลำกล้องปืน เพื่อบังคับทิศทางของกระสุนให้แม่นยำ เกลียวลำกล้องของปืนไทยประดิษฐ์ต้องใช้ลูกตุ้มตอกลำเกลียวเข้าไป เพื่อให้เหล็กข้างในลำกล้องเป็นรอยเกลียว เทียบกับโรงงานผลิตปืนของฝรั่ง ใช้วิธีกลึงเกลียว และมีอุปกรณ์ตั้งค่าศูนย์ปืนมาจากโรงงาน การตัดเหล็กของเรายังต้องใช้เลื่อยตะไบตัดอยู่เลย ของต่างประเทศ เขาใช้เลเซอร์ตัดกันหมดแล้ว”
ช่างหรั่งบอกว่า แม้กระทั่งการเชื่อมรอยต่อหรือตะเข็บของแต่ละชิ้นส่วนเหล็ก ที่นำมาประกอบกันเป็นปืน ปืนไทยประดิษฐ์ยังต้องใช้วิธีเผาทองเหลืองเป็นตัวเชื่อม เพื่อทำหน้าที่คล้ายกับน้ำประสานทอง ที่ใช้เชื่อมขึ้นรูปทองรูปพรรณ
เทียบกับของต่างประเทศ แต่ละชิ้นส่วนเป็นเหล็กหล่อที่ได้มาตรฐานมาจากบล็อกหรือแม่พิมพ์ของโรงงาน จึงสามารถนำมาประกอบเข้ากันได้เลย

ดังนั้น ช่างหรั่งจึงเสนอว่า หากรัฐบาลต้องการจะส่งเสริมสนับสนุน ให้คนไทยสามารถใช้ภูมิปัญญาของช่างทำปืนไทยประดิษฐ์ ผลิตปืนพกสั้น ที่ได้มาตรฐาน ในราคาไม่แพงเหมือนปืนที่นำเข้าจากนอก ซึ่งทุกวันนี้วางขายกันกระบอกละเป็นแสนบาท ก็ต้องมีการสนับสนุน และส่งเสริมกันอย่างเปิดเผยและจริงจัง
“อย่างแรก ต้องจัดหาสถานที่กลาง สร้างโรงงานผลิตปืนสั้นของรัฐ จากนั้นนำผู้ที่มีทักษะความชำนาญในการผลิตปืนไทยประดิษฐ์ ซึ่งตอนนี้แถวบ้านหาดทะนงกับบ้านอีเติ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 20 คน มารวมกลุ่มกันทำ โดยบริหารจัดการและคุมบัญชีให้รัดกุม ไม่งั้นอาจมีการลักลอบทำขายให้คนนอก”
ช่างหรั่งบอกว่า ที่จริงก่อนหน้านี้สมัยรัฐบาลนายกฯทักษิณก็เคยมีแนวคิดคล้ายคลึงกับที่รัฐบาลนี้กำลังจะทำ
“ตอนนั้นมีทั้งทหารและเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาที่หมู่บ้านผม มีแนวคิดจะให้คนทำปืนเถื่อนที่เลิกทำแล้ว หวนกลับมาใช้ภูมิปัญญาและความชำนาญช่วยสร้างอาวุธให้กองทัพ ถึงกับพาอดีตช่างทำปืนหลายคน ไปดูงานที่โรงงานผลิตปืนของเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตที่อำเภอท่าตะโก นครสวรรค์ แต่แล้วก็ออกมาทำนองว่าโรงงานลงทุนไปเยอะ จู่ๆรัฐจะมาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำปืนขายแข่งกับเขา เรื่องเลยเงียบไป”
“สรุปแล้ว ถ้ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจังเป็นไปได้ ถ้าสามารถดึงเอาโรงงานผลิตปืนของเอกชนมาร่วมหุ้น และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ได้ก็ควรทำ แล้วจัดหาวัสดุอุปกรณ์ทันสมัยมาใช้ในการผลิต ที่เหลือพื้นฐานในการทำปืน คนของเรามีอยู่แล้วเต็มเปี่ยม ต้องการก็แค่แรงหนุนที่ดีจากทุกฝ่าย” ช่างหรั่งทิ้งท้าย.
Loading...