ต้นตระกูลปืน"เก้าลูกดก"เบรานิงก์ ไฮเพาเวอร์


Loading...

จอห์น โมเสส เบรานิงก์ (John Moses Browning, 1855-1926) ได้รับการยกย่องให้เป็นยอดอัจฉริยะในวงการปืน ผลงานที่รู้จักกันดีที่สุดคือปืนพก 1911 ที่โคลท์ซื้อสิทธิบัตรไปผลิตขายให้กองทัพสหรัฐ นอกจากปืนอมตะนี้แล้ว เบรานิงก์ยังออกแบบปืนรูปแบบต่าง ๆ อีกมากมาย มีทั้งปืนพก ปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติ ไรเฟิล  ไปจนถึงปืนกลหนัก เริ่มจากออกแบบปืนแล้วขายสิทธิบัตรให้บริษัทใหญ่ในสหรัฐ ทั้งโคลท์ และวินเชสเตอร์ จนเริ่มรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เบรานิงก์จึงหันไปหากินกับบริษัทในยุโรป



  โดยออกแบบปืนให้บริษัท FN (ย่อจาก Fabrique Nationale) ของเบลเยียมนำไปผลิต แล้วรับส่วนแบ่งจากยอดขาย ได้ผลตอบแทนสูงกว่าการขายสิทธิครั้งเดียว และยังได้ใช้ชื่อเป็นยี่ห้อปืนด้วย ผลงานที่โดดเด่นคือ ลูกซองกะโหลกเหลี่ยม “ออโต ไฟว์” (Auto Five) ที่ผลิตต่อเนื่องเกือบครบร้อยปี (1902-1998)ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต้นทศวรรษ 1920 บริษัท FN เสนองานออกแบบปืนพกให้เบรานิงก์ สำหรับเป็นปืนทหารตามข้อกำหนดของกองทัพฝรั่งเศส คือ การทำงานกึ่งอัตโนมัติ จุกระสุนอย่างน้อย 10 นัด หวังผลได้อย่างน้อยถึง 50 เมตร  ตัวปืนหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม



 เบรานิงก์ออกแบบปืนนี้โดยต้องเลี่ยงไม่ให้ละเมิดสิทธิบัตรของปืน 1911 ที่โคลท์ซื้อขาดไปแล้ว ได้ปืนแบบใหม่ยื่นขอจดทะเบียนในปี 1923 ซึ่งกว่าจะได้รับรองสิทธิบัตรก็ล่วงถึงปี 1927 หลังจากเบรานิงก์เสียชีวิตไปแล้วสี่เดือน ผู้ที่ดำเนินการต่อคือ ดิวดอนเน เซอิฟ (Dieudonne Saive) วิศวกรของ FN ผู้ช่วยของเบรานิงก์ ที่เป็นผู้ออกแบบซองกระสุน “สองแถว” แต่แรก ซึ่งก็พอดีจังหวะที่สิทธิบัตรปืน 1911 หมดอายุลงในปี 1928 (จดทะเบียนเมื่อปี 1908) เซอิฟ จึงนำจุดเด่นของปืนที่เบรานิงก์ออกแบบไว้ทั้งสองกระบอกนี้มารวมกัน จนในที่สุดได้ปืน 9 มม. พาราฯ จุ 13 นัด ที่โลกรู้จักในชื่อ เบรานิงก์ ไฮเพาเวอร์  



เริ่มผลิตในปี 1934 มาถึงทุกวันนี้ไฮเพาเวอร์ เป็นปืนเหล็กล้วน ผลิตต่อเนื่องมาเกือบแปดสิบปีโดยมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จุดเด่นคือความจุกระสุน 13 นัด ซึ่งในยุคนั้นปืนพกส่วนใหญ่จุเพียง 8-10 นัด ระบบการทำงานของไกเป็นซิงเกิลล้วน นกต้องง้างก่อนไกจึงจะทำงาน ไกปืนไฮเพาเวอร์ ได้ชื่อว่าแต่งให้หลุดคมได้ยาก เนื่องจากมีระบบตัดสะพานไกเมื่อปลดซองกระสุนเพิ่มเข้ามา ตัวปืนแข็งแรงทนทาน การทำงานไว้ใจได้ดี มีการสั่งซื้อเข้าประจำการในกองทัพต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 50 ประเทศ (บริษัทเบรานิงก์นับเองได้กว่าร้อย) นอกจากผลิตจากโรงงานที่เมือง เฮอร์สตาล (Herstal, Belgium) แล้ว ยังมีโรงงานในโปรตุเกส และสหรัฐด้วย โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการผลิตในแคนาดาเพื่อป้อนให้กองทัพเครือจักรภพอังกฤษในเชิงพาณิชย์ ไฮเพาเวอร์ จัดว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ปัจจุบันเรียกว่า “มารค์ ทรี” (Mark III) 



โดยจุดที่ปรับปรุงจากเดิม มีเพียงห้ามไกสองด้าน ล็อกเข็มแทงชนวน และด้ามสังเคราะห์ที่ลดความหนาคอปืนลงเท่านั้น ปืนใหม่เป็นเหล็กรมดำทั้งกระบอก โดยมีรุ่นแต่งผิวสองสี เรียกว่า “แพร็คติคอล” (Practical) โครงชุบขาว ลำเลื่อนดำ ออกขายอยู่ระยะหนึ่ง และถ้าเป็นปืนเก่าสมัยสงคราม จะมีรุ่นศูนย์สะพานปรับได้  กับรุ่นที่ต่อด้ามเป็นพานท้ายประทับบ่า ที่นักสะสมปืนเสาะหากันมากโดยรวม เบรานิงก์ ไฮเพาเวอร์ เป็นปืนต่อสู้ขนาดตัวมาตรฐาน ออกแบบสำหรับเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจโดยตรง ใช้เป็นปืนเฝ้าบ้านได้ดี  วัสดุเป็นเหล็กล้วน  ซึ่งปัจจุบันหาตัวเลือกได้ยาก  จุดเด่นคือความทนทาน และการทำงานที่ไว้ใจได้ ระบบความปลอดภัยดี  จะมีจุดด้อยเพียงจุดเดียวคือไกหนัก แต่งให้เบาได้ยาก.
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช